ติดต่อเรา

แท้จริงแล้ว...พลาสติกเป็นผู้ร้ายหรือไม่?


          ถ้ากล่าวถึงการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้น แน่นอนว่าคนทั่วไปรับรู้ได้ว่า “พลาสติก” เป็นสิ่งที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติในเวลาอันสั้น แต่ใช้เวลาย่อยสลายเป็นร้อยๆ ปี หากลองเปรียบเทียบกับวัสดุชนิดอื่นๆ เช่น กระดาษ โลหะ แก้ว ความจริงแล้วการใช้พลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าวัสดุเหล่านี้ด้วยซ้ำ ดังนั้น เรามาพิจารณากันถึงข้อเท็จจริงที่ว่านี้ไปพร้อมกัน

 

ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างถุงพลาสติกกับถุงกระดาษ

ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบระหว่างถุงพลาสติกและถุงกระดาษ

ระยะของผลิตภัณฑ์

ปริมาณปล่อยมลภาวะทางอากาศ (Oz/ถุง)

ปริมาณพลังงานที่ใช้ (BTU/ถุง)

  ปริมาณน้ำที่ใช้    (L/ถุง)

พลาสติก

กระดาษ

พลาสติก

กระดาษ

พลาสติก

กระดาษ

ระยะการผลิต ขึ้นรูป และใช้ถุง

0.0146

0.0516

464

905

0.22

3.80

ระยะการทิ้งและเก็บรวบรวม

0.0045

0.0510

185

724

0.19

2.80

รวมทุกระยะ

0.0191

0.1260

649

1629

0.41

6.60

 Ref: Franklin Associated

 

          ในการผลิตถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษนั้น จําเป็นต้องใช้วัตถุดิบเป็นตัวตั้งต้น โดยพลาสติกนั้นสารตั้งต้น คือ แก๊สธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบ ส่วนกระดาษนั้นจะใช้เส้นใยเซลลูโลสจากต้นไม้ต่างๆ เมื่อได้วัตถุดิบแล้วจะนํามาผ่านกระบวนการขึ้นรูปเป็นถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษ จากนั้นจะมีการขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังผู้ใช้สุดท้ายจะถูกทิ้งและมีผู้รวบรวมกลับมาใหม่เพื่อจุดประสงค์ใดๆ เช่น การรีไซเคิล หรือนํากลับมาใช้ใหม่ ในทุกๆ ขั้นตอนนี้จะมีการปล่อยมลภาวะทางอากาศ (ในที่นี้คิดเฉพาะแก๊สเรือนกระจก) การใช้พลังงาน ตลอดจนปริมาณน้ำสะอาดที่ต้องใช้ จากตารางที่ 1 ข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบตลอดทั้งวงจรของผลิตภัณฑ์จะพบว่าถุงพลาสติกปล่อยมลภาวะทางอากาศน้อยกว่าถุงกระดาษ ใช้พลังงานน้อยกว่าถุงกระดาษ และยังใช้น้ำสะอาดน้อยกว่าถุงกระดาษเป็นจํานวนมาก ดังนั้น สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า ถุงพลาสติกรักษาสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าถุงกระดาษเป็นอย่างมาก

วัสดุ

มลพิษทางอากาศ

พลังงาน

น้ำสะอาด

พลาสติก

1.0

1.0

1.0

กระดาษ

6.6

2.5

16.1

        

          เปรียบเทียบจํานวนเท่าของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างถุงพลาสติกกับถุงกระดาษ เมื่อเทียบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกระบวนการผลิต การใช้ จนไปถึงการทิ้งระหว่างถุงพลาสติกและถุงกระดาษ โดย กําหนดให้ปริมาณของถุงพลาสติก เท่ากับ 1 ถุงกระดาษจะสร้างมลภาวะทางอากาศมากกว่า 6.6 เท่า ใช้พลังงานมากกว่า 2.5 เท่า และใช้น้ำสะอาดมากกว่าถึง 16.1 เท่า

          จากข้อเท็จจริงดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การใช้ถุงพลาสติกนั้นช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าการใช้กระดาษเป็นอย่างมาก ถ้านําข้อมูลมาเปรียบเทียบกับวัสดุชนิดอื่น เช่น แก้วหรือโลหะนั้น ตัวเลขจะสูงกว่ากระดาษเสียอีก

          การรีไซเคิลถุงพลาสติกหรือกระดาษนั้นยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีก หลายๆ ท่านคิดว่าพลาสติกมีปัญหาในการรีไซเคิลเมื่อเทียบกับกระดาษ แต่จริงๆ แล้วกระดาษรีไซเคิลได้ยากกว่าและมีขั้นตอนมากกว่ามาก เริ่มต้นจากการเก็บเศษกระดาษจากขยะซึ่งมีปริมาณมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับปริมาณขยะชนิดอื่น นํามาล้าง แช่น้ำและบําบัดด้วยเคมีหลายชนิดเพื่อให้ได้เยื่อกระดาษกลับคืนมา จะมีขั้นตอนการคัดแยกเพื่อขจัดสารปนเปื้อน ล้างอีกรอบให้เยื่อกระดาษสะอาดและอัดรีดเยื่อกระดาษให้เป็นแผ่น เก็บเข้าม้วน เพื่อรอจําหน่ายต่อไป ส่วนการรีไซเคิลพลาสติกนั้นจะมีขั้นตอนการคัดแยกพลาสติกชนิดเดียวกัน ล้างสิ่งปนเปื้อน หลอมและตัดเม็ดใหม่ จะเห็นว่ามีขั้นตอนน้อยกว่ามาก ใช้น้ำและพลังงานน้อยกว่า พลาสติกรีไซเคิลจะมีคุณสมบัติทางกายภาพลดลงเมื่อผ่านการหลอม ดังนั้นจึงต้องใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคุณสมบัติลดลง เช่นการ รีไซเคิลขวดน้ำดื่ม PET ให้เป็นพรม เป็นต้น

          การปฏิเสธการใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ทําจากพลาสติกหรือกระดาษนั้น คงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะทั้งสองก็เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งานสูง กระดาษมีข้อได้เปรียบ คือ สามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้ ทําให้ระยะยาวเศษขยะจากกระดาษไม่ก่อให้เกิดมลพิษมากนัก ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์หลายๆ อย่างก็ประกอบไปด้วยกระดาษเคลือบด้วยพลาสติก ผู้บริโภคก็จะถูกบังคับให้ใช้โดยปริยายทั้งคู่ สําคัญที่ว่าเราจะจัดการกับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างไรให้ถูกวิธีมากกว่าควร

 

 

          อย่างไรก็ตามการทิ้งขยะตามสถานที่ที่ไม่สมควร เกิดจากพฤติกรรมของคน การทิ้งขยะตามท้องถนนตามที่สาธารณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ขยะถ้าถูกทิ้งในถังขยะอย่างน้อยก็จะถูกกําจัดได้อย่างถูกวิธี กระบวนการรีไซเคิลในเมืองไทยนั้น ยังไม่มีระบบที่สมบูรณ์เหมือนกับประเทศทางแถบยุโรป ซึ่งจะมีแหล่งรับซื้อเป็นตู้ตามห้างสะดวกซื้อต่างๆ โดยตู้รับซื้อจ่ายเป็นเงินสดหรือคูปองส่วนลด เมื่อซื้อสินค้าภายในห้างนั้นๆ การรีไซเคิลขยะพลาสติกนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าไม่สามารถหลอมตัดเม็ดนํามาใช้ใหม่ได้ ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นน้ำมันดีเซลได้แล้ว พลาสติกเองสามารถกําจัดโดยการฝั่งกลบได้ โดยไม่ก่อสารพิษแก่แหล่งดินหรือน้ำ แต่อาจก่อให้เกิดความรําคาญแก่ผู้พบเห็น การย่อยสลายพลาสติกอาจใช้เวลานานเป็นร้อยปี แต่ปัจจุบันก็มีการพัฒนาพลาสติกแบบย่อยสลายได้ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม

          การเรียนรู้วิธีการใช้และกำจัดพลาสติกอย่างถูกวิธี ด้วยการลดการใช้ นำกลับมาใช้ใหม่ ทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง แค่นี้ก็สามารถช่วยโลกของเราให้น่าอยู่ได้ไม่ยากเลย

 

อ้างอิง : คงศักดิ์ ดอกบัว  ผู้อํานวยการสายงานวิชาการและสารสนเทศ สถาบันพลาสติก